กลยุทธ์การลงทุน Offensive vs Defensive เลือกแบบไหนดี
เปรียบเทียบกลยุทธ์การลงทุน Offensive vs Defensive แบบเห็นภาพ
ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือเก๋าประสบการณ์ ในช่วงเวลาหนึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับคำถามสำคัญว่า ควรเลือกกลยุทธ์การลงทุนแบบไหนดี ระหว่าง กลยุทธ์เชิงรุก (Offensive) หรือกลยุทธ์ลงทุนแบบเชิงรับ (Defensive) โดยทั้งสองกลยุทธ์นี้มีจุดแข็งและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน การเลือกแบบที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางการเงิน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสภาวะตลาดในขณะนั้น ดังนั้น บทความนี้จึงจะมาเป็นคู่มือประกอบการตัดสินใจ เพื่อการลงทุนอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก (Offensive Investment Strategy)
Offensive Investment Strategy หรือกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดโดยรวม นักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์นี้มักจะมีความกระตือรือร้นในการติดตามข่าวสารและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อหาโอกาสในการทำกำไรจากความผันผวนของตลาด
ลักษณะสำคัญของกลยุทธ์เชิงรุก
- ซื้อขายบ่อยครั้ง : นักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกมักจะทำการซื้อขายหลักทรัพย์บ่อยครั้ง เพื่อทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้น
- วิเคราะห์เชิงลึก : มีการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ทั้งทางเทคนิคและพื้นฐานอย่างละเอียด เพื่อหาหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
- ใช้เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน : อาจมีการใช้อนุพันธ์ทางการเงิน เช่น ออปชัน หรือฟิวเจอร์ส เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไร
- ความเสี่ยงสูง : เนื่องจากมุ่งเน้นผลตอบแทนที่สูง จึงมักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย
- การติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด : นักลงทุนเชิงรุกต้องติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของตลาดอย่างสม่ำเสมอ
ข้อดีของกลยุทธ์เชิงรุก
- โอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด
- ความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์ตลาด
- การเรียนรู้และพัฒนาทักษะการลงทุนอย่างรวดเร็ว
ข้อเสียของกลยุทธ์เชิงรุก
- ความเสี่ยงที่สูงขึ้น
- ค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงเนื่องจากการทำธุรกรรมบ่อยครั้ง
- ต้องใช้เวลาและความพยายามในการวิเคราะห์ติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด
กลยุทธ์การลงทุนเชิงรับ (Defensive Investment Strategy)
ในทางตรงกันข้าม กลยุทธ์การลงทุนแบบ Defensive หรือเชิงรับ หลักสำคัญคือเน้นการรักษาเงินต้นและสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว โดยไม่พยายามเอาชนะตลาด นักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนนี้มักเลือกการกระจายความเสี่ยง รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ
ลักษณะสำคัญของกลยุทธ์เชิงรับ
- การถือครองระยะยาว : นักลงทุนแบบ Defensive มักจะซื้อและถือครองสินทรัพย์เป็นระยะเวลานาน โดยไม่สนใจความผันผวนในระยะสั้น
- การกระจายความเสี่ยง : มีการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อลดความเสี่ยง
- การลงทุนในดัชนี : นิยมลงทุนในกองทุนดัชนีหรือ ETF ที่ติดตามดัชนีตลาดโดยรวม
- ความเสี่ยงต่ำ : เน้นการรักษาเงินต้นและสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
- การบริหารจัดการแบบ Passive : ไม่จำเป็นต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด หรือทำการซื้อขายบ่อยครั้ง
ข้อดีของกลยุทธ์เชิงรับ
- ความเสี่ยงที่ต่ำกว่า
- ไม่สิ้นเปลืองค่าธรรมเนียมการซื้อขาย
- ใช้เวลาและความพยายามในการบริหารจัดการน้อยกว่า
- เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด
ข้อเสียของกลยุทธ์เชิงรับ
- โอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดมีน้อยกว่า
- อาจไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างทันท่วงที
- ไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงในระยะสั้น
กลยุทธ์การลงทุนแบบ Offensive Strategy + Defensive Strategy
ในโลกความเป็นจริง นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมักไม่ได้ยึดติดกับกลยุทธ์การลงทุนใดกลยุทธ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มักจะใช้วิธีการผสมผสานระหว่างกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทน วิธีนี้เรียกว่า “กลยุทธ์การลงทุนแบบผสมผสาน” หรือ “Balanced Strategy”
แนวคิดหลักของกลยุทธ์แบบผสมผสาน
- การแบ่งสัดส่วนพอร์ตการลงทุน : นักลงทุนอาจแบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็นสองส่วน โดยส่วนหนึ่งใช้กลยุทธ์เชิงรับเพื่อรักษาสมดุล และอีกส่วนหนึ่งใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น
- การปรับสมดุลตามสภาวะตลาด : มีการปรับสัดส่วนระหว่างการลงทุนเชิงรุกและเชิงรับตามสภาวะตลาดและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- การใช้เทคนิคการบริหารความเสี่ยง : นำเทคนิคการบริหารความเสี่ยงมาใช้ เช่น การกำหนดจุด Stop Loss หรือการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในส่วนของการลงทุนเชิงรุก
- การลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท : มีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภท ทั้งหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ
- การติดตามและปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ : มีการปรับพอร์ตการลงทุนเป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด
ข้อควรระวังของกลยุทธ์แบบผสมผสาน
- ต้องใช้ความรู้และทักษะในการบริหารจัดการพอร์ตที่ซับซ้อนมากขึ้น
- ต้องมีการปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ โดยสำหรับคนที่ไม่มีเวลา อาจต้องใช้บริการที่ปรึกษาการลงทุนซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ข้อคิดในการเลือกกลยุทธ์การลงุทน
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจและเห็นภาพแล้วว่าการลงทุนในหุ้น หรือสินทรัพย์ใด ๆ แบบ Offensive กับ Defensive คืออะไร โดยหนึ่งเรื่องที่อยากฝากก่อนจะจบบทความนี้คือการเลือกระหว่างกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกกับเชิงรับ หรือการผสมผสานทั้งสองแบบ ไม่ใช่เรื่องของ “ถูก” หรือ “ผิด” แต่เป็นเรื่องของการเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์และเป้าหมายของแต่ละคน
ไม่ว่าจะเลือกกลยุทธ์แบบใด สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีวินัยในการลงทุน การติดตามผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เมื่อจำเป็น การลงทุนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการเลือกกลยุทธ์ที่ “ดีที่สุด” แต่เกิดจากการเลือกกลยุทธ์ที่ “เหมาะสมที่สุด” และการยึดมั่นในแผนการลงทุนระยะยาว
อยากลงทุนในหุ้นแบบอุ่นใจ แนะนำที่ Pi Financial
นอกจากกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับสภาวะตลาดและเป้าหมายแล้ว การมีแพลตฟอร์มลงทุนใน หุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ, กองทุนรวม และ TFEX ที่น่าเชื่อถือ ใช้งานง่าย ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยขอแนะนำ Pi Financial แอปพลิเคชันเพื่อการซื้อขายและการลงทุนสำหรับทุกคน รองรับการซื้อขายหุ้นในทุกประเภทบัญชี มีฟีเจอร์ที่เป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุน และสามารถใช้งานได้ในทุกที่ ทุกเวลา เข้าถึงการลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาด เอ็ม เอ ไอ ผ่านทางแอปพลิเคชัน ด้วยประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้ากว่า 50 ปี
คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมมิได้ยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต