พันธบัตร VS หุ้นกู้ แตกต่างกันอย่างไร เลือกแบบไหนดีกว่ากัน

Published
Share this article:
banner image

พันธบัตรและหุ้นกู้แตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง

“ตราสารหนี้” เป็นการลงทุนที่ได้รับลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยเงินกู้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ “พันธบัตร” และ “หุ้นกู้” ซึ่งให้ผลตอบแทนที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับ แต่เราจะเหมาะกับการลงทุนแบบไหน และทั้งการลงทุนทั้งสองแบบนี้แตกต่างกันอย่างไร บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยกัน

ตราสารหนี้คืออะไร มีจุดเด่นในการลงทุนอย่างไร ?

ก่อนที่จะไปดูว่าพันธบัตรและหุ้นกู้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เราไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตราสารหนี้ คืออะไร เป็นการลงทุนแบบไหน

ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินที่ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยเงินกู้ ผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ที่ออกตราสารหนี้มีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยระหว่างสัญญาอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาจะได้รับเงินต้นคืน

จุดเด่นของการลงทุนในตราสารหนี้ คือ ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป หากเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลจะมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก เนื่องจากมีความมั่นคงสูง โอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้น้อยมาก เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ส่วนตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชนจะมีความเสี่ยงสูงถึงปานกลาง เหมาะกับผู้ที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ประเภทของตราสารหนี้

แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. ตราสารหนี้รัฐบาล (Government Bond) ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง รัฐวิสาหกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
  2. ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) ออกโดยบริษัทเอกชน

พันธบัตรคืออะไร ทำไมหลายคนชอบลงทุน ?

พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยจะจ่ายเงินคืนในรูปแบบของดอกเบี้ย ผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล มีความปลอดภัยสูง และมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐบาลนำเงินไปพัฒนาประเทศหรือก่อสร้างโครงการต่าง ๆ นั่นเอง

พันธบัตรมีกี่ประเภท ?

พันธบัตรแต่ละประเภทจะมีระยะเวลา การจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น รวมถึงรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุนทุกครั้ง โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังต่อไปนี้

  • ตั๋วเงินคลัง อายุ 1 ปี ออกโดยกระทรวงการคลัง เหมาะกับการลงทุนในระยะสั้น
  • พันธบัตรรัฐบาลแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ปีละ 2 ครั้ง
  • พันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยลอยตัว มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สอดคล้องกับดอกเบี้ยในตลาด
  • พันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนตามอัตราเงินเฟ้อ
  • พันธบัตรออมทรัพย์ เป็นพันธบัตรระยะยาว เพื่อส่งเสริมการออมของประชาชน จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราในตลาด ออกโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานภาครัฐ
  • พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ออกโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน
  • พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

จุดเด่นที่สำคัญของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

  • ความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากออกโดยรัฐบาล หรือมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน
  • มีความน่าเชื่อถือสูง มีความปลอดภัยและมั่นคง โอกาสที่จะไม่ชำระหนี้ต่ำมาก
  • ผลตอบแทนคงที่ สามารถวางแผนทางการเงินระยะยาวได้ และสามารถรักษาเงินต้นเอาไว้ได้ แม้ในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง
  • เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ หรือผู้ที่ต้องการรักษาเงินต้น

ข้อจำกัดของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

  • สภาพคล่องต่ำ ไม่สามารถขายหน่วยการลงทุนได้ตามต้องการ เนื่องจากไม่มีนโยบายรับซื้อคืนก่อนกำหนด
  • ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน

หุ้นกู้คืออะไร เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ?

หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยบริษัทเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนในการทำกิจการต่าง ๆ จ่ายผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะจ่ายปีละ 2 ครั้ง มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยผู้ที่ลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้

หุ้นกู้มีกี่ประเภท ?

ประเภทของหุ้นกู้แบ่งตามวิธีจ่ายดอกเบี้ย

  • ชนิดจ่ายดอกเบี้ยคงที่ โดยจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตลอดอายุหุ้นกู้
  • ชนิดจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว ปรับการจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราอ้างอิง
  • ชนิดไม่จ่ายดอกเบี้ย จ่ายคืนเฉพาะเงินต้นเมื่อครบระยะเวลา แต่มักขายหุ้นกู้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ระบุเอาไว้หน้าตั๋ว

หุ้นกู้ตลาดแรกกับหุ้นกู้ตลาดรอง ต่างกันอย่างไร ?

นอกจากจะต้องรู้จักประเภทของหุ้นกู้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจคือ ความแตกต่างของหุ้นกู้ตลาดแรกและหุ้นกู้ตลาดรอง

  • หุ้นกู้ตลาดแรก (Primary Market) คือ หุ้นกู้ที่ซื้อโดยตรงจากบริษัทเป็นครั้งแรก โดยราคาที่ขายจะเป็นราคาตามหน้าตั๋ว ต้องซื้อในช่วงเวลาที่ประกาศขายเท่านั้น
  • หุ้นกู้ตลาดรอง (Secondary Market) คือ หุ้นกู้ที่เปลี่ยนมือระหว่างนักลงทุน ผ่านโบรกเกอร์หรือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจจะมีราคาแพงกว่าหรือถูกกว่าหน้าตั๋วก็ได้ และสามารถซื้อขายได้ทุกวัน

จุดเด่นที่สำคัญของการลงทุนในหุ้นกู้

  • ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์และพันธบัตรรัฐบาล
  • สร้างรายได้ประจำที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ
  • เสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น
  • สามารถซื้อขายและเปลี่ยนมือได้ ไม่ต้องรอให้ครบกำหนด

ข้อจำกัดของการลงทุนในหุ้นกู้

  • มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ที่อาจจะทำให้มูลค่าของหุ้นกู้ลดลง
  • มีความเสี่ยงที่บริษัทจะผิดชำระหนี้หรือล้มละลาย อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินต้นได้

เปรียบเทียบหุ้นกู้ VS พันธบัตร แบบไหนเหมาะกับเรามากกว่ากัน

คุณลักษณะพันธบัตรรัฐบาลหุ้นกู้
ผู้ออกรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐบริษัทเอกชน
ความเสี่ยงต่ำปานกลางถึงสูง
ผลตอบแทนค่อนข้างน้อยสูงกว่าพันธบัตรและการฝากเงิน
สภาพคล่องต่ำ ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ปานกลาง สามารถเปลี่ยนมือได้
เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการความมั่นคงและรับความเสี่ยงได้น้อยนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและสามารถรับความเสี่ยงได้

ลงทุนพันธบัตรและหุ้นกู้กับ Pi Financial

การกระจายความเสี่ยงการลงทุน เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ดังนั้น จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การลงทุน ความเสี่ยงที่รับได้ และเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคน

สำหรับผู้ที่ต้องการ ลงทุนในหุ้นกู้ ทั้งตลาดแรกและตลอดรอง สามารถลงทุนผ่าน Pi Financial แอปพลิเคชันเพื่อการซื้อขายและการลงทุนสำหรับทุกคน พร้อมอัปเดตข่าวสารทางการเงินและบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ สามารถใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลา มั่นใจด้วยประสบการณ์ให้บริการลูกค้ากว่า 50 ปี

สนใจลงทุนในหุ้นกู้ตลาดแรก ติดต่อ Pi Financial ได้ที่ 02-205-7000 ต่อ 8884

สนใจลงทุนในหุ้นกู้ตลาดรอง ติดต่อ Pi Financial ได้ที่ 02-205-7082 ต่อ 4

คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

About Author

profile icon
Pi Content Team
Pi Securities Public Company Limited