Pi STOCK UPDATE : SCGP (BUY : FAIR PRICE Bt44.00)

Published
Share this article:

" แนวโน้มการเติบโตยังมั่นคง "

เรากลับมาเริ่มต้นบทวิเคราะห์ SCGP ใหม่อีกครั้งด้วยคำแนะนำ "ซื้อ" มูลค่าพื้นฐาน 44.00 บาท อิง 29x PE’23E หรือ -1SD ต่อค่าเฉลี่ย 3 ปี กำไรสุทธิไตรมาส 2/23 อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท (-20 YoY, +22% QoQ) ปรับดีขึ้น 2 ไตรมาสติด หลังจากแตะจุดต่ำเป็นประวัติการณ์ไปเมื่อไตรมาส 4/22 ส่วนภาพรวมครึ่งหลังปี 2023 และปี 2024 ค่อนข้างสดใสเพราะความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยและผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ลดน้อยลงจะช่วยกระตุ้นปริมาณขายขึ้นได้ ต้นทุนวัตถุดิบที่รวมถึงพลังงานที่ลดลงก็จะเอื้อให้อัตรากำไรขยายตัวขึ้น เราคาดว่ากำไรสุทธิปี 2023/24E จะโต 12%/11% YoY เป็น 6.5 พันล้านบาท และ 7.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.25 บาท/หุ้นสำหรับงวดครึ่งแรกปี 2023 คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 0.6% อิงราคาปิดล่าสุด

กำไรโตมั่นคงในไตรมาส 2/23

กำไรสุทธิไตรมาส 2/23 อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท (-20% YoY, +22% QoQ) ฟื้นตัว 2 ไตรมาสติด หลังแตะจุดต่ำไปเมื่อไตรมาส 4/22 หนุนจากอัตรากำไรที่โตขึ้นแม้รายได้จะลดลง

รายได้หดตัว 15% YoY และ 5% QoQ มาอยู่ที่ 3.22 หมื่นล้านบาท ฉุดจากราคาและปริมาณขายบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ลดลงท่ามกลางสภาวะอุปสงค์ที่อ่อนแอลงในอาเซียนและตลาดส่งออก ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ขยายตัวเป็น 18.2% ในไตรมาส 2/23 จาก 17.6% ในไตรมาส 2/22 และ 1/23 อานิสงส์จากต้นทุนที่ลดลง (พลังงาน ขนส่ง ฯลฯ)

ยอดขายและอัตรากำไรมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

ปัจจัยมหภาคยังเป็นบวกเล็กน้อยในครึ่งหลังปี 2023 แม้จะมีประเด็นค้างคาเรื่องเงินเฟ้ออยู่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนและภาคการผลิตของอาเซียนในไตรมาส 2/23 ปรับเพิ่มเป็น 55.8 และ 51.6 ตามลำดับ สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ขยายตัวเล็กน้อย ทำให้เราเห็นแนวโน้มอุปสงค์ต่อบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และกลุ่มการแพทย์ที่จะยังดีขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง

ขณะที่คาดว่าราคาพลังงานจะลดลงต่อเนื่องจากสภาวะอุปทานที่ดีขึ้นและอุปสงค์โลกที่เบาบาง จึงคาดว่า GPM จะยังแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง

**ภาพรวมการเติบโตที่น่าตื่นเต้นผ่านดีล M&Ps ตั้งแต่ทำ IPO **

SCGP มีผลงานที่น่าประทับใจตั้งแต่ทำ IPO ในช่วงปลายปี 2020 ด้วยรายได้ที่โต 1.6 เท่าในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2020 หนุนจากดีล M&P 7 รายการและการขยายกิจการทางตรงอีก 7 โครงการในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เยื่อกระดาษ และรีไซเคิลที่กระจายอยู่ใน 8 ประเทศ

บริษัทได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดที่ 17%-45% ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ และ 8%-34% ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ด้วยลักษณะกิจการที่มีการบูรณาการระดับสูงทำให้ SCGP มีประโยชน์ร่วมในเครือที่แข็งแกร่งผ่านรูปแบบการขายข้ามกลุ่ม (cross selling) ข้อได้เปรียบทางต้นทุน การปรับรูปแบบการผลิตตามความต้องการลูกค้า ฯลฯ

เราจึงเชื่อว่า SCGP จะบรรลุเป้าหมายรายได้ที่ 2.0 แสนล้านบาทภายในปี 2025 ได้ จากการขยายกิจการทางตรงและ M&P ใหม่ ๆ